ร้าน คนรักพระ
www.thanawat.99wat.com
-
-

  สินค้าทุกชิ้นเรารัปประกันให้ ถ้าหากต้องการใบเซอร์พระหรือรับรองพระแท้กรุณาแจ้งก่อนหรือโทรถามระเบียบได้ทุกเวลา เก๊คืนเงินทันที

    เงินท่านแท้พระเราต้องแท้   

  your genuine money , our cataract in the eye goods , 

ก่อนนำสินค้าออกจากร้านเรามีใบการันตีให้ทุกชิ้น   ถ้าชิ้นไหนไม่ดีการนำพระไปการันตีก็จะไม่ผ่านหรือมีใบเซอร์พระหรือใบรับรองพระ

 TEL 085-0468957 

 
ท่ากระดาน. กรุวัดเหนือ


  ส่งข้อความ

ชื่อร้านค้า
คนรักพระ
โดย
matmuangmin
ประเภทพระเครื่อง
พระกรุ
ชื่อพระ
ท่ากระดาน. กรุวัดเหนือ
รายละเอียด
พระสภาพเดิมจากกรุ ปิดทองคราบหินปูนจับหนาเนื้อตะกั่วแห้งเก่ามาก
พระท่ากระดาน จังหวัดกาญจนบุรี

permalink

พระท่ากระดานนั้นเป็นที่ไขว่หาของนักเลงพระเป็นอันมาก เพราะได้ชื่อว่าเป็นยอดขุนศึกแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง เป็นพระดีเด่นของ จังหวัดกาญจนบุรี และหนักไปในทางคงกระพันและมหาอุด อันมีประสบการณ์มามากมายจนเป็นที่รู้กันทั่วประเทศไทย แต่เนื่องจากพระแท้มีน้อย แต่ของปลอมมีมาก ฉะนั้นหากจะไขว่คว้าหาเอาไว้ป้องกันตัว ได้โปรดพิจารณาให้ถ่องแท้เพราะราคาค่านิยมพระแท้เป็นเรือนแสน
ท่ากระดานเป็นเมืองท่า แต่ต่อมาถูกยุบเป็นกิ่งอำเภอเมื่อ พ.ศ. 2438 จากนั้นเป็นหมู่บ้านและตำบลตั้งอยู่ในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์จังหวัดกาญจนบุรี เมืองกาญจนบุรีเป็นแหล่งพำนักของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์และเป็นเมืองในยุคทราวดี ลพบุรี และอู่ทองโดยลำดับ จนกระทั่วเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย ในปัจจุบันนี้การที่ทราบว่าเมืองกาญจนบุรีเป็นถิ่นของมนุษย์สมัยหินก็เนื่องจากได้พบเครื่องมือยุคหิน ตลอดจนลูกปัด ขนาดเล็ก ๆ สีต่าง ๆ ของมนุษย์สมัยหินมานานแล้ว ในสมัยก่อน ไม่มีผู้ใดทราบว่าเมืองกาญจนบุรีเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2485 สงครามโลกเกิดขึ้น ญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกมาสร้างทางรถไฟ จากสถานีหนองปลาดุกถึง เมืองมะละแหม่งประเทศพม่า เชลยศึกชาววิลันดาคนหนึ่ง ชื่อ " ฟอนฮีคีเร็น " นักโบราณคดีชาววิลันดา ถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟสายมรณะ เขาได้พบเครื่องมือของมนุษย์หินตามแนวทาง ที่ญี่ปุ่นตัดทางรถไฟ และได้เก็บชิ้นงาม ๆ ติดตัวไว้และบันทึกเรื่องราวไว้ละเอียด เมื่อสงครามสงบ
" ฟอน ฮีคีเร็น " ได้ส่งเครื่องมือสมัยหินไปยังมหาวิทยาลัยเคมบริช ผู้เชี่ยวชาญทางคณะโบราณคดีวิเคราะห์แล้วบอกว่า เป็นเครื่องมือมนุษย์สมัยหิน พร้อมทั้งได้นำเรื่องราวลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แพร่ข่าวไปทั่วโลก นักโบราณคดีรู้ข่าวต่างพากันมาที่เมืองกาญจนบุรี ขอสำรวจตรวจขุดค้น ได้พบเครื่องมือมนุษย์ยุคหินหลายอย่าง และยังพบลูกปัดสีต่าง ๆ และของอีกหลายอย่าง ฯลฯ
กาญจนบุรีตั้งอยู่แถบเทือกเขาตะนาวศรีและเทือกเขาถนนธงชัย เป็นภูเขาหินปูนซึ่งกั้นอาณาเขตระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำแควน้อยไหลจากอำเภอสังขละบุรี ลงมาบรรจบกับแม่น้ำแควใหญ่ ที่อำเภอเมืองกาญจนบุรี กลายเป็นแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำแควน้อยยาวทั้งสิ้น 315 กิโลเมตร แม่น้ำแควใหญ่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาถนนธงชัยเหนืออำเภอ อุ้มผาง (จ.ตาก) ไหลผ่านอำเภอศรีสวัสดิ์(จ.กาญจนบุรี) และไหลมารวมกับแม่น้ำแควน้อยที่อำเภอเมืองกาญจนบุรี มีความยาวทั้งสิ้น 480 กิโลเมตร
นอกจากนี้ยังมีแม่น้ำแม่กลองที่ไหลผ่านอำเภอเมือง อำเภอท่าม่วง อำเภอท่ามะกา ไปยังจังหวัดราชบุรี และไหลลงอ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรปราการ และยังมีแม่น้ำตะเพินที่ไหลผ่านบริเวณที่ราบลุ่มทางตะวันออกของจังหวัดไปทางใต้ บรรจบกับแม่น้ำแควใหญ่ ที่ ตำบลท่าเสา อ.เมือง.จ.กาญจนบุรี
สภาพธรรมชาติของกาญจนบุรีเต็มไปด้วยทิวเขาน้อยใหญ่ และแม่น้ำลำธารมากมาย นี่เองทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่แสนงดงามมากมายกลายเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของเมืองไทย
ปัจจุบันกาญจนบุรี มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 14,4486 ตารางกิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่ ปลูกอ้อย ทำนา และทำสวนผลไม้ โดยทั่วๆไปกาญจนบุรี แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 อำเภอได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอท่ามะกา อำเภอท่าม่วง อำเภอบ่อพลอย อำเภอพนมทวน อำเภอเลาขวัญ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอไทรโยค อำเภอทองผาภูมิ อำเภอสังขละบุรี
มีเขื่อนกั้นน้ำมากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนท่าทุ่งนา เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนเขาแหลม นับเป็นจังหวัดที่มีเขื่อนมากที่สุด นอกจากนั้นยังมีอุทยานแห่งชาติศรีนครินทร์ (อ.ศรีสวัสดิ์) อุทยานแห่งชาติรันตโกสินทร์ (ธารลอด) อ.บ่อพลอย อุทยานแห่งชาติไทรโยค (อ.ไทรโยค) มีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 2 แห่งคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และเขตรักษาพันสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร มีแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติมากกว่า 30 แห่ง มีนักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวกันเป็นจำนวนมากในขณะนี้

ใครสร้างพระท่ากระดาน
จากหลักฐานในลานเงินลานทองของการค้นพบพระเครื่องกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี และพระเครื่องกรุวัดพระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวถึงการสร้างมงคลวัตถุของพระฤาษีชุดเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ พระฤาษีเหล่านี้ได้จาริกไปทั่วแคว้นอู่ทองและสุโขทัย เจริญสมถกัมมัฎฐาน รวมทั้งกฤตยาคมต่าง ๆ อาศัยป่าถ้ำเป็นที่พำนัก เมื่อพระราชาแคว้นใดจะสร้างพระเครื่องถวายไว้ในพระศาสนาก็จะอาราธนาพระฤาษีเหล่านี้มาจากป่า เพื่อประกอบกรรมวิธีดังกล่าว ทำนองเดียวกันกับการสร้างพระเครื่องในทุกวันนี้ คือมีการนิมนต์พระเกจิอาจารย์จากสำนักต่าง ๆ เข้ามาร่วมพิธีสร้างและปลุกเสก
คำของคนกาญจนบุรีรุ่นเก่าที่เรียกพระท่ากระดานว่าพระเกศบิดตาแดง นั้นมีความหมายลึกซึ้งมากบ่งถึงเอกลักษณ์สำคัญของพระเครื่องชนิดนี้โดยตรง ชี้เบาะแสให้พิจารณาถึงตัวพระเกจิอาจารย์ผู้สร้างด้วยคำว่า เกศบิด ตรงกับลักษณะพระเกศของพระที่มีลักษณะยาวและบิดม้วน พระพักตร์ลักษณะเป็นหน้าพระฤาษีอย่างเห็นได้ชัดอีกทั้งการก้มง้ำของพระพักตร์แฝงไว้ด้วยความเข้มขลังของอำนาจสมาบัติ แววพระพักตร์ฉายพลังอันลึกลับออกมาดุจดังได้รับการถ่ายทอดพลังแห่งพฤติภาพอันแท้จริงของพระฤาษีผู้สร้าง ส่วนคำว่า ตาแดง นั้นดูเหมือนจะทวีความลึกลับยิ่งขึ้นไปอีก เพราะมิได้หมายถึง ว่าพระเนตรขององค์พระมีวรรณะแดงของสนิมแดงแต่เพียงส่วนเดียว แต่ส่วนอื่น ๆ ขององค์พระก็ปรากฏวรรณะของสนิมแดงปกคลุมอยู่ทั่วไป หากหมายถึงว่าพระท่ากระดานเป็นพระเครื่องชนิดเดียวที่มีเอกลักษณ์ พิเศษต่างกว่าพระเครื่องทั้งหลาย จากลักษณะพิเศษดังกล่าวทำให้เกิดแนวโน้มขึ้นว่า พระเกจิอาจารย์ผู้สร้างพระท่ากระดานอันวิเศษนี่ น่าจะได้แก่พระฤาษีตาไฟ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของพระฤาษีผู้เป็นใหญ่เป็นประธานแก่บรรดาพระฤาษี 11 ตน ที่มาประชุมร่วมกันสร้างพระผงสุพรรณ ฯลฯ และพระกำแพงทุ่งเศรษฐีนั้นในจารึกแผ่นลานเงินลานทอง ตอนที่กล่าว่าพระฤาษีผู้ใหญ่ตนหนึ่งในจำนวน 4 ตน นั้นอยู่ในพันธุมบุรี คงจะได้แก่พระฤาษีตาไฟเป็นแน่ ท่านคงจาริกอยู่ในป่าเขาเขตกาญจนบุรี ( ทางผ่านอู่ทอง ) คงจะมีอาศรมอยู่ในป่าแถบนี้และบางโอกาสก็จำศีลภาวนาอยู่ในถ้ำต่าง ๆ ดังเช่นที่ ถ้ำลั่นทม เขตอำเภอศรีสวัสดิ์ ซึ่งมีหลักฐานว่าเป็นแหล่งกำเนิดการสร้างพระท่ากระดาน ในระหว่างที่พระฤาษีตาไฟสร้างพระท่ากระดาน คงจะพำนักอยู่ในถ้ำลั่นทมนี้เอง
อายุพระท่ากระดาน
โดยอาศัยการพิจารณาอายุของการสร้างพระผงสุพรรณ ในปี พ.ศ. 1886 และการสร้างพระกำแพงทุ่งเศรษฐีในปี พ.ศ. 1900 ในช่วง 14 ปีนี้ พระฤาษีตาไฟยังมีชีวิตอยู่และเป็นประธานร่วมในการสร้างพระเครื่องทั้ง 2 กรุ ดังกล่าว อีกทั้งจารึกที่ระบุไว้ในลานทองยังได้แฝงปริศนาอันน่าขบคิดไว้ว่า "ได้มีการสร้างพระเครื่องจากผงเกสรดอกไม้นับพันชนิดและว่านร้อยแปด อีกทั้งยังได้สร้างพระเครื่องที่ทำด้วยเนื้อชินไว้อีกด้วย" พระเครื่องที่ทำจากผงเกสรนั้นได้มีการพบพร้อมกับลานทองที่ระบุ พิธีการสร้างและอุปเท่ห์การใช้ ซึ่งต่อมาเราเรียกกันว่า พระกำแพง ทุ่งเศรษฐี จากกรุลานทุ่งเศรษฐี กำแพงเพชร และพระผงสุพรรณ จากกรุวัดพระศรีมหาธาตุ สุพรรณบุรี เมื่อมาพิจารณาถึงเนื้อหากันแล้ว พระทั้งสองกรุก็มีเนื่องหามวลสารคล้าย ๆ กัน ทั้ง ๆ ที่อยู่กันคนละเมือง และเป็นที่น่าสังเกตว่าพระกรุเนื้อดินที่พบในเมืองสุพรรณ ส่วนมากจะมีเนื้อหยาบ เห็นแต่พระผงสุพรรณเท่านั้นที่มีเนื้อละเอียดเป็นไปได้หรือไม่ว่า พระผงสุพรรณนั้นทำมาจากที่อื่น โดยคำอาราธนาของผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงนำมาบรรจุไว้ที่เจดีย์วัดพระศรีฯ ซึ่งถ้าเป็นดังที่ว่านี้แล้วพระเนื้อชินที่พระฤาษีชุดดังกล่าว ได้สร้างข้อความที่ระบุไว้ในลานทองนั้นคือ " พระท่ากระดาน " นั่นเอง เหตุผลที่ชัดเจนก็คือ พุทธศิลป์ ท่านลองพินิจพิจารณาศิลปะของพระผงสุพรรณกับพระท่ากระดานดูอีกสักครั้งท่านจะพบว่ามีส่วนละม้ายคล้ายกันมากที่สุดจนเกือบจะพูดได้ว่าผู้สร้างคือคน ๆ เดียวกัน และเมื่อมาดูด้านกฤษดาอภินิหารของพระท่ากระดานนั้นล่ำลือกันมาแต่โบราณกาลแล้ว โดยเฉพาะเรื่องอยู่ยงคงกระพันนั้น ไม่เป็นรองใครเลย
พระท่ากระดานได้สร้างขึ้นที่ถ้ำลั่นทม เขตอำเภอศรีสวัสดิ์ โดยพระฤาษีตาไฟเป็นประธานในการสร้าง และเป็นไปได้ว่า พระท่ากระดานจะมีอายุประมาณหกร้อยกว่าปี นับเป็นพระเครื่องโบราณที่เก่าแก่มาก ทั้งทรงพุทธคุณอันยิ่งใหญ่ ควรแก่การทนุถนอม เก็บไว้สักการะบูชาและเก็บรักษาไว้เป็นมรดกสืบทอดต่อไปแต่หายากในอนาคต

กรุพระท่ากระดาน
จากนี้ไปจะกล่าวถึงภูมิสถานและลักษณะของกรุตลอดจนการขุดพบพระท่ากระดาน ตามกรุต่าง ๆ ของอำเภอศรีสวัสดิ์จากกรุใต้สุดจนถึงกรุเหนือสุด คือ กรุถ้ำลั่นทม กรุวัดล่าง กรุวัดกลาง กรุวัดบน และกรุวัดบ้านนาสวน จากนั้นจะกล่าวถึงกรุต่าง ๆ ที่อยู่ภายในตัวเมืองกาญจนบุรีอีก 4 กรุ ได้แก่ กรุวัดหนองบัว กรุวัดเหนือ กรุวัดท่าเสา กรุวัดเขาชนไก่ และกรุถ้ำเขาฤาษีแห่งทุ่งใหญ่นเรศวร อันเป็นกรุสุดท้ายแห่งการค้นพบพระท่ากระดาน

1. กรุถ้ำลั่นทม ตั้งอยู่บนฝั่งทิศเหนือของแม่น้ำแควใหญ่เขตอำเภอศรีสวัสดิ์ ห่างจากตัวจังหวัดกาญจนบุรีประมาณ 70 กิโลเมตร ตามแนวลำแม่น้ำ ซึ่งกรุนี้มิได้อยู่ในเขตตำบลท่ากระดานเช่นอีก 3 กรุ กรุวัดล่าง กรุวัดกลาง และกรุวัดบน ตัวถ้ำลั่นทมตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำแควใหญ่ บางส่วนได้พังลงสู่แม่น้ำพร้อมกับตลิ่งเนื่องจากถูกกระแสน้ำกัดเซาะบริเวณหน้าถ้ำมีซากพระเจดีย์โบราณอยู่หลายองค์ และมีพระพุทธรูปประทับยืนแลประทับนั่งรวม 3 องค์ มีบาตรชำรุดขนาดเขื่อง เตาดินเก่าหลายเตา ถังน้ำและรางน้ำทำด้วยไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้พบ แม่พิมพ์พระท่ากระดานทุกพิมพ์ และเศษตะกั่วที่เกิดสนิมแดงจัด ๆ เช่นเดียวกับสนิมของพระท่ากระดาน ตกเรี่ยราดอยู่ใกล้บริเวณเตาดิน ซึ่งแสดงว่าถ้ำลั่นทมนี้เป็นแหล่งสร้างพระท่ากระดานและเป็นนิวาสถานของพระฤาษีตาไฟ สมัยที่ท่านสร้างพระท่ากระดานโดยแท้จริง
การขุดพระท่ากระดาน ปี พ.ศ. 2497 ภายหลังจากการขุดหาพระท่ากระดานที่กรุวัดบน วัดกลาง และวัดล่าง ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ ครั้งใหญ่ปี พ.ศ. 2495 และ 2496 แล้ว ได้มีครูประชาบาลผู้หนึ่งขุดได้พระท่ากระดานกรุลั่นทมภายในบริเวณหน้าวัด พระที่ขุดได้มีปริมาณค่อนบาตรเขื่อง ๆ บาตรหนึ่งจำนวนหลายร้อยองค์ เป็นพระท่ากระดานที่มีด้านหลังเป็นลักษณะเป็นแอ่งหรือรางทั้งสิ้นองค์พระปิดทองในกรุทุกองค์ เล่ากันว่าครูประชาบาลผู้พบพระกรุนี้ฝันไปว่า มีวิญญาณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาเข้าฝันบอกให้ไปขุดแล้วทำให้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บ้าง พระท่ากระดานกรุนี้สนิมแดงจัดงดงามมาก นอกจากนั้นยังพบพระสกุล ท่ากระดานแบบต่าง ๆ อีกเป็นอันมาก
2. กรุวัดล่าง เป็นพระอารามโบราณแห่งหนึ่งของเมืองท่ากระดานเก่าในตำบาลท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่ฝั่งทิศใต้ เหนือถ้ำลั่นทมขึ้นไปตามลำน้ำประมาณ 5 กิโลเมตร ตัวพระอารามตั้งอยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำมากคือ ห่างจากลำน้ำแควใหญ่เพียง 10 เมตร เท่านั้น เนื่องจากลำน้ำเปลี่ยนทิศทาง จังกัดเซาะตลิ่งพังลงไปทุกที การขุดพบพระท่ากระดานในพระอารามโบราณนี้มีพอสมควร เป็นพระท่ากระดานเกศค่อนข้างยาวหลังเรียบหรือเรียบนูน
3. กรุวัดกลาง ( วัดท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ ) เป็นซากพระอารามโบราณสำคัญของเมืองท่ากระดานเป็นกรุที่มีชื่อเสียงที่สุด เพราะพระท่ากระดานรุ่นที่ขุดได้แต่ครั้งเก่าแก่นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นพระจากกรุนี้ จึงทำให้มีผู้เรียกวัดนี้ว่า วัดท่ากระดาน การที่เรียกเช่นนั้นก็เหมาะสมมาก เพราะตัวอารามของวัดนี้ตั้งอยู่ในย่านกลางเมืองของเมืองท่ากระดานเก่าพอดี แสดงว่าเป็นพระอารามหลักที่สำคัญของเมืองนี้ ในยุคอู่ทอง อีกประการหนึ่ง พระท่ากระดานของกรุนี้ถือว่าเป็นพระหลักและกรุนี้ถือเป็นกรุหลักด้วย พระอารามตั้งอยู่ริมฝั่งลำแม่น้ำแควใหญ่ ฝั่งทิศใต้ เหนือวัดล่างขึ้นไปประมาณ 220 เมตร พระอารามอยู่ห่างจากแม่น้ำประมาณ 100 เมตร โบราณสถานต่าง ๆ จึงไม่หักพังลงมา เช่นเกรุอื่น ๆ ดังนั้นพระท่ากระดานส่วนใหญ่จึงขุดได้จากกรุหลักนี้ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แหล่ง ด้วยกัน
3.1 แหล่งที่ 1 เป็นกรุที่อยู่ใต้องค์พระประธานในอุโบสถ แหล่งนี้ขุดพบพระท่ากระดานเป็นจำนวนมาก คณะผู้ขุดได้กำหนดตำแหน่งที่ประดิษฐานพระประธานเป็นจุดศูนย์กลาง แล้ววัดทะ แยงออกไปในทิศทั้ง 4 แล้วขุดหาพระในแนวทิศทั้ง 4 นั้น ปรากฏว่าได้พบพระท่ากระดานเป็นระยะ คือในช่วง 1 ศอก จะพบพระท่ากระดาน 1 องค์เสมอ จนสุดขอบพระอุโบสถ ทั้ง 4 มุม และแต่ละมุมทั้ง 4 จะมีโพรงอยู่ใต้ระดับพื้นพระอุโบสถ และในแต่ละโพรงจะมีพระกริ่งบาเก็ง บรรจุไว้โพรงละ 1 องค์ บริเวณย่านกลางพระอุโบสถจะมีพระท่ากระดานบรรจุไว้ใต้พื้นอีกหลายองค์ และพระกริ่งบาเก็งอีก 3 องค์ นอกจากนั้นตามแนวผนังพระอุโบสถก็จะปรากฏพระท่ากระดานเป็นช่วง ๆ ช่วงละ 1 องค์ ต่อ 1 ศอก ส่วนตามพื้นอุโบสถโดยทั่วไปจะมีพระท่ากระดานฝังอยู่อย่างกระจัดกระจายอย่างไม่เป็นระเบียบ
3.2 แหล่งที่ 2 คือบริเวณตรงซากพระเจดีย์องค์ประธาน ของพระอาราม ซึ่งพระเจดีย์องค์นี้ประดิษฐานอยู่ท่ามกลางเขตอุปจาร เป็นกรุที่ขุดพระท่ากระดานได้มากที่สุด เมื่อเทียบกับแหล่งทั้ง 3 แห่ง
3.3 แหล่งที่ 3 คือ ซากพระเจดีย์ที่อยู่ทางทิศเหนือ ของพระเจดีย์องค์ประธาน ณ บริเวณนี้มีต้นลั่นทมใหญ่ขึ้นอยู่ต้นหนึ่ง ฉะนั้นพระท่ากระดานในกรุนี้จึงมีผู้เรียกว่า พระท่ากระดานกรุต้นลั่นทม
นอกจากนี้ทั้ง 3 แหล่งดังกล่าวแล้ว ดังปรากฎว่ามีพระท่ากระดานกระจัดกระจายอยู่โดยทั่วไปในเขตอุปจารของพระอาราม แต่ไม่เป็นกลุ่มเป็นก้อนดังเช่นทั้ง 3 แหล่ง อนึ่งนอกจากพระท่ากระดานและพระกริ่งบาเก็งแล้ว ยังได้พบพระสกุลท่ากระทานอีกมากมายหลายแบบ ฝีมือช่างคล้ายพระสกุลปรกโพธิ์เชียงแสน สำหรับพระเนื้อชินมีเป็นส่วนน้อย นอกจากนั้นเป็นพระภควัมบดี พระมหาอุตม์ รูปกระต่ายสีขาว ( ไม่ทราบว่าสร้างด้วยโลหะชนิดใด ) รูปเต่าเนื้อตะกั่วสนิมแดง ฯลฯ สำหรับ พระกริ่งบาเก็งเมื่อขุดได้ขึ้นมา 3 องค์ ผู้ขุดพบได้นำมาให้ผู้บูชาในกรุงเทพฯ ในราคาองค์ละ 1,200 บาท ( ราคาค่านิยมในสมัยนั้น ) เป็นพระที่เนื้ออกสนิมเขียว ก้นกลวงไม่มีลูกกริ่ง



4. กรุวัดบน เดิมทีเดียวเมื่อมีการขุดหาพระท่ากระดานครั้งแรก ๆ ในต้นปี พ.ศ. 2495 นั้น ไม่ปรากฏว่าได้ขุดพบพระท่ากระดานที่นี่เลย เคยพบแต่ซากกระดูกมนุษย์มากมาย หลังจากได้มีการขุดกรุ 3 กรุดังกล่าว ข้างต้น ในลักษณะฟอนเฟ้นแทบหมดสิ้นแล้ว จึงจะได้มีผู้หวนกลับมาขุดกรุวัดบนอีกวาระหนึ่ง ราวปลายปี พ.ศ.2495 - 96 การขุดหาคราวนั้นปรากฏว่าได้พบพระท่ากระดานเป็นอันมาก ประมาณว่าได้มากกกว่ากรุวัดล่างและวัดกลางเสียอีก พระอารามนี้ตั้งอยู่ริมลำน้ำแควใหญ่ฝั่งเดียวกับวัดกลาง แต่อยู่เหนือขึ้นไปประมาณ 200 เมตร และห่างจากฝั่งแม่น้ำประมาณ 120 เมตร
5. กรุวัดนาสวน ( วัดต้นโพธิ์ ) เป็นพระอารามร้างเช่นเดียวกับ 4 กรุ ข้างต้นอยู่เหนืออำเภอศรีสวัสดิ์ ขึ้นไปเล็กน้อยในท้องที่บ้านนาสวน ตำบลศรีสวัสดิ์ อำเภอศรีสวัสดิ์ บริเวณหน้าพระอารามมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ฉะนั้นบางครั้งจึงเรียกกันว่า วัดต้นโพธิ์ นายลิ ชายวัยกลางคน เป้ฯผุ้เดินทางไปขุดพระท่ากระดานที่กรุนี้ เมื่อประมาณวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2506 คือในปีเดียวกันกับการขุดครั้งแรก เขาได้เดินทางขึ้นไปขุดหาพระท่ากระดานอีก และคงขุดได้พระท่ากระดานและพระชนิดอื่นอีกจำนวนหนึ่ง
ในปัจจุบันโครงการชลประทานเขื่อนศรีนครินทร์ ( เขื่อนเจ้าเณร ) ได้กักน้ำบริเวณรอบ ๆ พื้นที่อำเภอศรีสวัสดิ์ จึงทำให้ภูมิประเทศในย่านเหล่านี้แปรสภาพเป็นอ่างน้ำขนาดมหึมา บริเวณกรุวัดท่ากระดานต่าง ๆ จึงจมอยู่ใต้น้ำโดยสิ้นเชิง
6. กรุวัดหนองบัว ( วัดศรีอุปราราม ) ตั้งอยู่ในตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ในปี พ.ศ. 2497 สมัยหลวงพ่อเหรียญ ( พระโสภณสมาจาร ) เป็นเจ้าอาวาสได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามขึ้น เนื่องจากมีสภาพชำรุดทรุดโทรมขณะที่รื้อซ่อมพระอุโบสถเก่า ได้พบพระท่ากระดานจำนวน 93 องค์ ( ที่งดงามสมบูรณ์ 7 องค์ ) และพระสกุลท่ากระดานแบบต่าง ๆ อีก 21 องค์ รวมทั้งได้พบพระปิดตาของหลวงปู่ยิ้มอดีตเจ้าอาวาสหนองบัวอีกหลายสิบองค์ พระเครื่องเหล่านี้บรรจุรวมกันอยู่ในโถโบราณลูกหนึ่งซึ่งตั้งอยู่บนเพดานพระอุโบสถตรงกับทับหลังของประตูด้านหลังพระประธาน
7. กรุวัดเหนือ ( วัดเทวสังฆาราม ) ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรีในปี พ.ศ. 2506 สมัยหลวงพ่อดี ( พระเทพมงคลรังษี ) เป็นเจ้าอาวาส ทางวัดได้ทำการเจาะพระเจดีย์องค์ประธานเพื่อบรรจุพระ 25 พุทธศตวรรษ ซึ่งทางราชการได้มอบมาให้เช่นเดียวกับพระอารามอื่น ๆ ขณะขุดเจาะลึกเข้าไปประมาณ 1 เมตร ได้มีทรายไหลทะลักออกมาเป็นจำนวนมาก เมื่อโกยทรายออกหมดแล้ว จึงได้พบไหเคลือบโบราณสีดำลูกหนึ่งภายในบรรจุพระท่ากระดานและพระเครื่องไว้เต็ม ใต้พื้นกรุใต้ไหขุดพบ พระศิลาแลง 4 องค์ ฝังอยู่รอบไห ตอนกลางมีพระเครื่องต่าง ๆ กระจัดกระจายจำนวนมาก พระเครื่องที่บรรจุในไหมีดังนี้ พระท่ากระดาน 25 องค์ พระหูช้าง 800 องค์ พระขุนแผนเรือนแก้ว มีทั้งปางสมาธิ และมารวิชัยเนื้อตะกั่วสนิมเหลือง 200 องค์ พระโคนสมอ 100 องค์ พระปรุหนัง 20 องค์ พระหลวงพ่อโต 5 องค์ พระอู่ทองพิมพ์เขื่องกลางและเล็ก 200 องค์ พระมารวิชัยสะดุ้งกลับ 20 องค์ พระพิมพ์เปลวรัศมี 10 องค์ และรูปท้าวชมภูบดี 2 องค์



8. กรุลาดหญ้า ในปี พ.ศ. 2507 พบพระท่ากระดานอยู่ในเขตตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ตั้งเมืองกาญจนบุรี การค้นพบมีด้วยกัน 2 แห่ง คือ
แห่งที่ 1 ที่วัดท่าเสา ได้มีการขุดฐานพระเจดีย์องค์หนึ่ง ได้พระท่ากระดานออกมาจำนวนหนึ่ง และ " พระท่ากระดานน้อย " มีลักษณะคล้ายพระวัดศาลเจ้า อ.เมือง จังหวัดราชบุรี เป็นพระทำด้วยตะกั่ว มีสนิมแดงเรื่อ ๆ แต่งดงามกว่าพระวัดศาลเจ้ามาก พระท่ากระดานน้อยจะเป็นพระสร้างในยุคหลัง
แห่งที่ 2 ที่กรุวัดเขาชนไก่ ตั้งอยู่ในตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ไม่มีหลักฐานเด่นชัดว่ามีพระท่ากระดานแตกกรุมาจำนวนเท่าใด เพียงแต่กล่าวว่าพระท่ากระดานของกรุวัดเขาชนไก่นี้ เป็นพิมพ์หน้าลักยิ้ม พระเกศาแบบเมาฬี หลังเรียบหรือเรียบนูน

9. พระท่ากระดานกรุใหม่ หรือกรุเขาฤาษี ทุ่งใหญ่นเรศวร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และในเอเชียอาคเนย์ มีเนื้อที่ประมาณ 3,200 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 1,600 ตารางกิโลเมตร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อปี 2519 พระท่ากระดานกรุใหม่มีที่ไปที่มาดังนี้ คือ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน 2540 พรานชาวกระเหรี่ยงนอก ชื่อนายโซ่ ออกเดินทางเพื่อหาของป่ามาขาย โดยเดินทางจากบ้านบ่องาม ต.สหกรณ์นิคม อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เข้าป่าหาของป่าตามนิสัยของชอบ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 วันกว่า ๆ เข้าเขตเทือกเขาฤาษี ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเขตทุ่งใหญ่นเรศวรซึ่งเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์บังเอิญวันนั้นเกิดฝนตกอย่างหนัก นายโซ่จึงได้เดินลัดสันเขา เพื่อหาที่หลบฝน จึงได้พบถ้ำด้านล่างของถ้ำเป็นทุ่งหญ้ามีลำธารน้ำไหลและสิ่งที่ปรากฏในถ้ำ พบพระพุทธรูป 2 องค์ สมบูรณ์ 1 องค์ ไม่มีเศียร 1 องค์ และพบพระท่ากระดานหลายสิบองค์วางเรียงอยู่บนแท่นบูชาส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งวางเรียงอยู่บนหินในถ้ำ นายโซ่ได้แซะพระที่ติดอยู่กับพื้นผิวถ้ำ โดยมิได้สนใจเท่าไรนัก ทำให้พระเสียหายชำรุดแทบทั้งหมด มีอยู่ไม่กี่องค์ที่สมบูรณ์เรียบร้อยดี นายโซ่ได้นำพระเครื่องใส่ถุง ( ถุงปุ๋ย ) จำนวนที่ได้ประมาณ 40 กว่าองค์ จึงนำกลับมาที่ทองผาภูมิ โดยมิได้สนใจอะไรมากนัก อยู่มาวันหนึ่ง นายโซ่ได้นำพระมาแลกเหล้าซึ่งตัวเองก็ไม่รู้ว่าพระนั้นมีคุณค่าอย่างไร แม้แต่ร้านขายเหล้าก็ยังไม่ยอมแลก ต่อมาอีกไม่นานนายโซ่ได้นำพระท่ากระดานมาให้พวกขับรถสิบล้อ ที่วิ่งอยู่ในเหมืองแร่บ่องาม พวกขับรถสิบล้อส่วนมากจะอยู่แถวตลาดลาดหญ้า อ.เมืองกาญจนบุรี ได้นำพระออกมาขายในตัวเมือง จึงเป็นที่ฮือฮาขึ้นมา
จากการศึกษาตำนานการเดินทัพพบว่าถ้ำดังกล่าวมีพระเจดีย์อยู่ใกล้ ๆ ริมทุ่งใหญ่ 2 แห่ง ถ้ำดังกล่าวอยู่บริเวณต้นกำเนิดแม่น้ำแม่กลอง ผ่าน อ.ทองผาภูมิ อ.ศรีสวัสดิ์ อ.บ่อพลอย ผ่านอำเภอเมืองจังหวัดกาญจนบุรี ข่าวพระท่ากระดานแตกกรุกระจายออกไป เซียนน้อยเซียนใหญ่ต่างเสาะแสวงหาเช่าไว้เป็นของตัวเอง เป็นที่ชุลมุนวุ่นวายไประยะหนึ่ง ต่อมาได้มีทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และประชาชนในจังหวัดกาญจนบุรี เริ่มจับทิศทางขุดค้นหาโดยเริ่มเดินทางค้นหาใช้เวลาเดินทางด้วยเท้าถึง 4 วัน จึงพบถ้ำดังกล่าว แต่ก็พบสิ่งมหัศจรรย์ เมื่อกลุ่มค้นหาทั้งหมด ใช้เวลาค้นหาถ้ำที่จะเข้าไปขุดพระท่ากระดานอยู่นานหลายชั่วโมง จนกระทั่งพบเต่าติดอยู่กับก้อนหิน เมื่อก้มลงจะช่วยเต่า ก็พบว่าในพงหญ้าด้านหน้ามีโพรงเล็ก ๆ พอตัวคนมุดเข้าไปได้ เมื่อถางบริเวณนั้นดูจึงพบว่าข้างในเป็นบริเวณกว้าง สามารถบรรจุคนได้ประมาณ 20 กว่าคน ลักษณะของถ้ำดังกล่าวมีช่องลมพัดผ่านได้ เวลาฝนตกน้ำฝนจะไหลเข้าทางทิศตะวันตก ออกปากถ้ำทางทิศตะวันออก และคณะผู้ค้นก็ทำการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงขุดพระท่ากระดานได้อีกจำนวนหนึ่งประมาณ 30 องค์ นี่คือที่มาที่ไปของพระท่ากระดานกรุใหม่ทุ่งใหญ่นเรศวร กาญจนบุรี



พุทธศิลป์
พระท่ากระดาน จัดว่าเป็นปฏิมา กรรม ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่หลายประการ ซึ่งทำให้มีความแตกต่างไปจากพระเครื่องชนิดอื่น ๆ เป็นอันมาก เป็นพระเครื่องที่อยู่ในรูปแบบ ปฏิมากรรมแบบแบน - นูนสูง ( High relief ) หมายถึง การแสดงภาพแต่เพียงด้านเดียว คือทางด้านหน้าแต่ด้านหลังเรียบ ด้านหน้าเป็นภาพพระองค์ที่เน้นส่วนพระเพลา ( หน้าตัก ) และพระอาสนะจะยื่นล้ำออกมาทางมิติส่วนหนามากที่สุด ยิ่งกว่าพระเครื่องชนิดอื่น ๆ เป็นปฏิมากรรมประเภทพระพิมพ์หล่อ โดยการใช้ เนื้อตะกั่วหรือตะกั่วผสม หลอมแล้วเทลงในแม่พิมพ์ และจัดเป็น พระปฏิมากรรมล้วน คือเป็นการปรากฏเฉพาะองค์พระล้วน ๆ โดยตัดกรอบเจียนไปตามเส้นกรอบนอก หรือขององค์พระ ซึ่งเรียกว่า ตัดกรอบเฉพาะองค์ ( Perimeter Cut ) ปราศจากจากพื้นผนัง ( ปีกหรือชายกรอบ ) และลวดลายอลังการหรือองค์ประกอบย่อยใด ๆ
จากการจำแนกพุทธศิลปพระท่ากระดานข้างต้น จึงเป็นเครื่องชี้ชัดว่า พระท่ากระดานเป็นพระเครื่องในสกุลอู่ทอง แบบบริสุทธิ์ กลุ่มคลาสสิค ประเภทหน้าฤาษีโดยแท้
รายละเอียดขององค์พระและส่วนประกอบของพระท่ากระดานมีดังนี้
1. พระเกศ แสดงออกมาหลายแบบ บางแบบแสดงสัณฐานเป็นหย่อมพระเมาฬีซ้อนกันเป็น 3 ชั้น บิดม้วนมีลักษณะอ่อนไหวดุจมุ่นมวยของพระฤาษีและบางแบบปลีพระเกศจะยาวเรียวและบิดพลิ้ว ประหนึ่งชฎาของพระฤาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระเกศแบบที่มีช่วงยาวมาก ๆ ( ประมาณ 1.30 ซม. ) นั้น ได้แสดงให้เห็นถึงความจงใจของผู้สร้างที่ประสงค์จะให้มีลักษณะเช่นนั้นเป็นการแฝงลักษณะบ่งบอกให้รู้ถึงตัวผู้สร้างคือฤาษีนั่นเอง
2. พระพักตร์ ( หน้า ) เข้าลักษณะพุทธศิลปอู่ทองแบบหน้าฤาษี ต้นพระหนุ ( ขากรรไกร ) และพระหนุ ( คาง ) มีลักษณะการยื่นล้ำออกมาข้างหน้าอย่างคมสัน เข้าลักษณะผสมด้วยแบบ อู่ทองคางคน เปลือกพระเนตรปิดสนิท ประกอบด้วยลีลาอันก้มงุ้มของพระพักตร์ และการเอียงพระศอเล็กน้อย จึงแฝงไว้ซึ่งความเป็นเอกแห่งอำนาจพุทธาคมอันน่าพรั่นพรึง ส่วมมุมพระโอษฐ์ ( ปาก ) ทั้ง 2 ข้าง เน้นเป็นร่องลึก ทำให้ปรากฏแววยิ้มในพระพักตร์ขึ้น ดังนั้นแววพระพักตร์ของพระปฏิมาจึงมีลักษณะเคร่งแต่แฝงไว้ด้วยรอยยิ้ม ผสมผสานกันอย่างน่าพิศวง
3. พระอุระ ( อก ) ผายกว้างตอนส่วนบนปาดเป็นเต้าสูงขึ้นมาอย่างงามผงาด และสอบคอดลงทางเบื้องล่าง ในแนวพระอุทร ( ท้อง ) แลดูผิวเผินมีลักษณะคล้ายรูปหัวช้างกอรปด้วยพระสังฆาฏิทรงสี่เหลี่ยมแผ่นใหญ่หนา พาดพระอังสา ( ไหล่ ) เบื้องซ้าย
4. การทอดพระพาหา ( แขน ) แสดงลีลาค่อนข้างแข็งกร้าว อาการหักข้อพระกัปประ ( ข้อศอก ) เป็นมุมแข็งกัน ทำให้มองเห็นว่าลีลาของพระพาหาถูกแบ่งออกเป็นท่อน ๆ อย่างชัดเจน ปราศจากการวาดโค้งสวย เช่นพระเครื่องชนิดอื่น ๆ พุทธลักษณะอันนี้ช่วยให้เกิดความรู้สึกในด้านความแกร่งกล้าแห่งกฤตยาคม
5. พระหัตถ์ ( มือ ) มีสัณฐานเขื่องหนาเทอะทะ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพุทธศิลปอู่ทอง ซึ่งช่วยให้เกิดความรู้สึกมีน้ำหนักหรือความหนักแน่นในอิทธิอำนาจ
6. พระเพลา ( หน้าตัก ) มีส่วนหนาและแน่นทึบ ลักษณะซ้อนกันอย่างแข็งทื่อและแน่นหนามั่นคงอย่างที่สุด ส่วนที่เป็นพระชงฆ์ ( แข้ง ) มีลักษณะปาดเป็นสันอกไก่เล็กน้อย ในแบบอู่ทองแข้งสันเจือปนอยู่ด้วย
7. พระอาสนะ เป็นแบบฐานเขียงชั้นเดียว แสดงลักษณะแง่สันแท่งเหลี่ยมเมื่อพิจารณาทางด้านข้างจะเห็นว่ามีอาการเฉียงลาด คือข้างบนเล็กและข้างล่างบางใหญ่ เป็นฐานเกลี้ยงปราศจากบัวหรือสิ่งอื่นใดประกอบ
8. การตัดกรอบ เป็นการตัดกรอบไปตามแนวเส้นรอบนอกขององค์พระและอาสนะไม่มีผนังหรือเนื้อชายที่ปีกเลย ( ยกเว้นบางองค์มีปีกแต่ปรากฏน้อยมาก )
พุทธลักษณะของพระท่ากระดานในแบบพุทธศิลป์อู่ทองดังกล่าว ย่อมมีลีลาลักษณะแตกต่างไปจากพระเครื่องชนิดอื่นทุกชนิด โดยแสดงพุทธลักษณะอันเคร่งขรึมและแววยิ้มแบบฤาษีรวมกัน และลักษณะดังกล่าวเป็นการแสดงออกทางลีลาจากองค์พระปฏิมาล้วน ๆ โดยโดดเด่น ปราศจากการใช้เครื่องประดับอลังการใด ๆ มาเสริมแต่งด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดความบันดาลใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็นและสักการะบูชา ว่าเป็นพระพุทธปฏิมาที่ทรงอำนาจกฤตยามหาอุตม์ที่ลึกล้ำยิ่ง
ราคา
โทรถาม
เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ
0850468957
ID LINE
-
จำนวนการเข้าชม
5,631 ครั้ง
บัญชีธนาคารที่ใช้ยืนยันตัวตน
ธนาคารกรุงเทพ / 019-0-15680-2
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา / 253-1-49709-9

แสดงความคิดเห็น